ไวอากร้าผู้หญิง ยาหอมหรือยาพิษสำหรับชีวิตคู่

Posted on Categories:ยา, ไวอากร้า
ยาเสียสาว

ไวอากร้าผู้หญิง เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่มีการริเริ่มวิจัยพัฒนาไวอากร้าสำหรับผู้หญิงขึ้น และดำเนินการมาจวบจนถึงวันนี้ วันที่ได้คำตอบแล้วว่าลิบริโด (Lybrido)

คือความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัย แต่นี่คือคำตอบสำหรับการเยียวยาภาวะความต้องการทางเพศที่ลดลง หรือว่าเรากำลังยัดเยียดความผิดปกติให้ผู้หญิงกันแน่

นับตั้งแต่ในอดีต

ค.ศ. 1998 ที่ไวอากร้าเริ่มออกวางจำหน่ายในท้องตลาด ก็สร้างสถิติเป็นยาสามัญประจำเหล่าชายใจสู้แต่สังขารไม่เอื้อที่ขายดิบขายดี และมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ก่อนนำมาซึ่งความต้องการค้นหายาประเภทเดียวกันนี้ แต่สลับกลุ่มเป้าหมายให้เป็นผู้หญิง ประมาณว่าเป็นยาเม็ดเล็กๆ สีชมพูที่จะเปลี่ยนเรื่องเพศให้อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของพวกเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นความถี่ ความเร่าร้อน รวมไปถึงระยะเวลาของเกมรัก

แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่มียาตัวไหนตอบโจทย์นี้ได้ งานหินงานนี้อาจเปรียบได้กับการค้นหาจี-สปอต (G-spot) หรือปุ่มกระสันในผู้หญิงที่มักกลายเป็นจุดบอดเมื่อลงสนามรัก หลักนั้นอยู่ที่คุณสมบัติของตัวยาที่ต้องล้ำหน้ากว่าไวอากร้าสำหรับผู้ชายที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะไวอากร้านั้นเป็นการตอบโจทย์เรื่องการไม่แข็งตัวขององคชาติ ด้วยการแสดงฤทธิ์เข้าช่วยเหลือทางกายภาพเพื่อให้เกิดอาการปึ๋งปั๋งขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นปัญหาสำหรับผู้หญิง เนื่องจากเรื่องเพศสำหรับพวกเธอเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่าความบกพร่องทางร่างกาย ดังนั้นสิ่งที่นักวิจัยทั้งหลายต้องการค้นหาให้พบก็คือ ยาพิเศษที่ไม่ใช่แค่ปลุกอารมณ์สวาททางกายเท่านั้น แต่ต้องร่ายมนต์รักปลุกไฟปรารถนาทางใจให้ติดพรึ่บขึ้นมาด้วย

“ลิบริโด” ยาปลุกอารมณ์ปรารถนาสำหรับผู้หญิง

ก่อนหน้านี้มีความพยายามนำยาพิเศษประเภทนี้ออกสู่ตลาดมาแล้วถึง 4 ผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่สามารถผ่านด่านเหล็กขององค์การอาหารและยา (FDA) ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นยาเพิ่มฮอร์โมนที่ชื่อ LibiGel หรือ Intrinsa รวมถึงยากระตุ้นระบบประสาท Flibanserin และ Bremelanotide ด้วย ทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในระยะทดสอบทั้งสิ้น แม้ว่าแผ่นติดกระตุ้นฮอร์โมน Intrinsa Patch ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสตรีวัยหมดประจำเดือนจะเคยมีวางจำหน่ายในยุโรปมาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นแค่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกเรียกเก็บกลับออกจากท้องตลาดทั้งหมดเมื่อปีที่ผ่านมา (สาเหตุอาจมาจากผลข้างเคียงที่ผู้บริโภคได้รับ เช่น การเกิดขนบนใบหน้า เป็นสิว รวมถึงเสียงที่ทุ้มต่ำลง คล้ายกับว่าฮอร์โมนหนุ่มวัยนมแตกพานกำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่)

อย่างไรก็ดีความหวังสำหรับเรื่องนี้กลับสว่างอีกครั้งเมื่อนักเขียนชาวอเมริกัน แดเนียล เบิร์กเนอร์ระบุในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา What Do Women Want?: Adventures in the Science of Female Desire ถึงการค้นพบยาพิเศษตัวใหม่ที่ชื่อลิบริโด ว่าเป็นคำตอบจากสวรรค์สำหรับปลุกอารมณ์ปรารถนาของผู้หญิง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาอยู่ และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ยาตัวนี้จะออกวางจำหน่ายสู่ตลาดโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คุณสมบัติที่โดดเด่นและแตกต่างของลิบริโดก็คือ เป็นการรวมตัวขององค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน ทำหน้าที่เคลือบเป็นเปลือกนอก พร้อมปรุงแต่งให้มีกลิ่นมินต์ในตัวโดยผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาเรียกหาลูกอมอีกต่อไป ในขณะที่ตัวยาข้างในทำหน้าที่คล้ายไวอากร้าที่จะกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศให้ตื่นตัวไปทั่วสรรพางค์กาย

ไวอากร้าผู้หญิง

อย่างไรก็ตามเบื้องหลังที่น่าประหลาดใจที่สุดของต้นกำเนิด รวมถึงเสียงตอบรับที่มีต่อยาพิเศษนี้ กลับมีรากฐานจากความต้องการใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ศูนย์วิจัยบางแห่งถึงกับประกาศว่า ลิบริโดเปรียบเสมือนยาประคองชีวิตสมรส เลยทีเดียว และหากมองย้อนกลับไปถึงมูลเหตุหลักก็เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการมีคู่สมรสเพียงคนเดียวเช่นกัน โดยผู้จุดประกายยาพิเศษตัวนี้ขึ้นเป็นนักประดิษฐ์ชาวดัตช์ชื่ออาดรีอาน ตุยเทน ซึ่งอ้างถึงการที่เขาตัดสินใจค้นคว้าหายาปลุกอารมณ์ปรารถนาในใจหญิงนี้ว่า

มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งภรรยาที่เป็นรักแรกของชีวิตเขาเดินหันหลังจากไปเมื่อสิบปีก่อน “ผมแทบสิ้นสติ ทั้งตกใจและเสียใจอย่างที่สุด ก่อนจะพยายามลุกขึ้นทำความเข้าใจว่าความล้มเหลวในชีวิตคู่ของผมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร” โดยหลักการที่น่าจะเป็นไปได้มีองค์ประกอบสำคัญคือความลงตัวระหว่างฮอร์โมน และสารเคมีเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างประสาท ที่คอยส่งผลให้สมองสั่งงานปลุกไฟรักไฟปรารถนาให้ยังคงลุกโชนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาดรีอานเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ภรรยาสุดที่รักยังคงอยู่และไม่ทิ้งเขาไป หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ PPshop

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไรและรักษาให้หายได้ไหม

Posted on Category:ยา
โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งในปัจจุบันด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ประกอบกับสภาพแวดล้อมของเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ เช่น ฝุ่นควันต่างๆ PM 2.5 ทำให้ อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ เพิ่มสูงขึ้น

อาการแตกต่างกันไป…เมื่อร่างกายตอบสนอง จึงเกิดภูมิแพ้ต่างกัน

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้อาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงผื่นลมพิษเรื้อรัง ซึ่งมีอาการแสดงแตกต่างกันไป คือ

  • อาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม มีน้ำมูก คัดจมูก คันจมูก คันตา เคืองตา ตาแดง น้ำมูกไหลลงคอ เป็นหวัดบ่อย เป็นหวัดเรื้อรัง หูอื้อ ไอ หายใจหอบ ไอมากตอนกลางคืน ไอหลังออกกำลังกาย หายใจมีเสียงวี้ด นอนกรน มีเลือดกำเดาไหล
  • อาการแสดงทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดงตามใบหน้าและลำตัว ผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ ผิวหนังแห้ง คันตามผิวหนัง
  • อาการแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการอาเจียน สำรอก ปวดท้อง ถ่ายเหลว
  • อาการแสดงในระบบอื่น เช่น ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย

ซึ่งอาการต่างๆ ดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้

สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม

เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ส่วนเด็กที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10

เกิดจากสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายของเรา เกิดจากสภาพแวดล้อมซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสสารต่างๆ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสร วัชพืช ขนสุนัข ขนแมว แมลงสาบ เชื้อรา อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5

การรักษาโรคภูมิแพ้

หากมีอาการของโรคภูมิแพ้ คนไข้ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ตัวใด เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ ก็จะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ โดยการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สามารถตรวจได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

  1. การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป)
  2. การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด

และเมื่อทราบสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ควรรับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเทคนิคการรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี เช่น

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แม้จะใช้ยารักษาภูมิแพ้แล้ว แต่หากไม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็ยังทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบต่อไปได้
  • ใช้ยารักษาสม่ำเสมอต่อเนื่อง และใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากโรคภูมิแพ้ทางอากาศ มียาที่ใช้รักษาหลายตัว ทั้งยาชนิดรับประทานและยาพ่น การใช้ยาสม่ำเสมอและถูกวิธีจะทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
    รักษาโรคร่วม เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคอ้วน

ถึงแม้ว่า โรคภูมิแพ้ บางชนิดจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมโรคไม่ให้มีอาการหรือมีอาการน้อยที่สุดได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โรคภูมิแพ้

การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง

Posted on Category:ยา
เก็บรักษายา

การมียาบางชนิดเก็บไว้ในบ้านหรือที่ทำงานนั้น ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบางครั้งที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งการเก็บรักษายาอย่างถูกวิธีนั้นมีความสำคัญมาก เพราะหากเก็บรักษาไม่ดีแล้ว ยาอาจเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุได้ และเมื่อนำมาใช้ก็อาจส่งผลเสียมากกว่า วันนี้จึงขอแนะนำวิธีการเก็บยาให้มีคุณภาพอยู่ได้นาน และมีความปลอดภัยมาฝากค่ะ

เก็บรักษายา

ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา

  1. อ่านสลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา
  2. กรณียาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยาไว้ในรถยนต์ เพราะเมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และควรเก็บในที่ที่เด็กหยิบยาเองไม่ได้
  3. กรณียาที่ระบุว่าให้เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะมีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งได้ หรือเก็บที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด ปิด ประตูตู้เย็น บ่อยๆ
  4. ยาที่บรรจุในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยาไปเป็นแบบใสหรือขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้จากแสง
  5. ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และปิดภาชนะบรรจุให้แน่น
  6. ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและวันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได

ควรเก็บยาที่เหลือไว้นานเท่าใด

  • ยา ปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำ และเก็บในตู้เย็น มีอายุของยา 7-14 วัน หลังจากผสมน้ำและเก็บในตู้เย็น หลังจากนั้น ประสิทธิภาพของยาจะลดลงอย่างมาก ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
  • ยาน้ำทั่วไป หลังจากเปิดขวดแล้วควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย เช่น ดูขุ่น ผิดปกติ หรือมีการตกตระกอน หรือสีเปลี่ยนไป ถ้าไม่แน่ใจควรทิ้งไปจะดีกว่า
  • ยาเม็ดที่ไม่ได้บรรจุใน Foil ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6-12 เดือน โดยพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย เช่น เม็ดร่วน แตกหัก หรือ สีเปลี่ยนไป ควรทิ้งยาที่พบนั้น
  • ยาเม็ดที่บรรจุ Foil สามารถเก็บไว้ได้ถึงวันหมดอายุของยา
  • ยาใช้ภายนอก เช่น ครีมต่างๆ ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือตามกำหนดวันหมดอายุอันใดอันหนึ่งที่มาถึงก่อน และพิจารณาลักษณะภายนอกของยาประกอบด้วย
  • ยาหยอดตา, ยาป้ายตา ที่เปิดใช้แล้ว ควรเก็บไว้ไม่เกิน 30 วัน หลังจากเปิดใช้

โปรดระลึกไว้เสมอว่า ยาที่เสื่อมสภาพนั้น อาจมีอันตรายต่อสุขภาพของท่าน หรือคนที่คุณรักได้มากและบางครั้ง การเก็บรักษายาที่ไม่ถูกต้องทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุได้ จึงควรเอาใจใส่เรื่องการเก็บรักษายาที่ได้รับมา และทานยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ เมื่อมีปัญหาอย่างไรควรปรึกษาแพทย์

ยานั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็อาจมีโทษมหันต์ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะยาที่เสื่อมสภาพ หรือยาหมดอายุ

ส่วนท่านที่ชอบซื้อยาทานเอง โดยรักษาตามคำบอกของเพื่อน หรือญาติ ที่อาจจะมีอาการคล้ายกันนั้น ก็อยากจะขอให้ระมัดระวัง เนื่องจากยาที่ใช้อาจจะไม่ตรงกับโรคที่เป็น หรือใช้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่แต่ละคน อาจจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการดำเนินโรคที่ต่างกัน รวมทั้งประวัติการแพ้ยา ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จึงอยากขอให้ปรึกษาแพทย์จะดีกว่าการพยายามรักษาเอง

วิธีดูฉลากยา ฝึกอ่านฉลากยา เมื่อตนเองไม่สบาย

Posted on Category:ยา
ฉลากยา

การใช้ยาถึงแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาอย่างผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อการรักษาและรวมไปถึงสุขภาพของผู้ใช้ยา บางครั้งผู้ใช้ยาอาจลืมวิธีการใช้ยาแต่ก็ละเลยที่จะอ่านฉลากยา ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านฉลากเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

ฉลากยาที่พบได้บ่อย คือ ฉลากยาจากบริษัทผู้ผลิต และ ฉลากยาจากสถานพยาบาล/คลินิก/ร้านขายยา ซึ่งรายละเอียดจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้การให้ข้อมูลมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และมีความปลอดภัยจากการใช้ยา

ฉลากยา

ข้อมูลแสดงบนบรรจุภัณฑ์

ยาทุกชนิดทุกประเภทจำเป็นต้องมีฉลากและเอกสารกำกับยาติดอยู่ในขวดหรือในกล่องยา เพราะฉลากและเอกสารกำกับยาเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะแนะนำให้ผู้บริโภครู้ไว้เพื่อประกอบในการใช้ยา ในเอกสารกำกับยาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับยาเอาไว้หลายประเด็น ไม่เพียงแต่ทำให้เราทราบชื่อยา ข้อบ่งใช้ หรือสรรพคุณของยาเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ ดังนั้นการใช้ยาอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาพยาบาล เพราะหากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่โทษอย่างมหันต์ได้ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ความในมาตรา 25 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันต้องจัดให้มีฉลากตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ โดยจะต้องปิดไว้ที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาหรือฉลากและเอกสารกำกับยา

ชื่อยาบนฉลาก ซึ่งจะมีทั้งชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้า จึงเป็นที่มาของยาชนิดเดียวกันอาจมีชื่อการค้าหลายชื่อหรือมีหลายยี่ห้อ ผู้ใช้ยาจึงควรทราบสูตร ส่วนประกอบ หรือ ชื่อสามัญทางยาของยาที่ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงตัวยาที่แพ้ หรือ การใช้ยาซ้ำซ้อน อันเป็นสาเหตุของการใช้ยาเกินขนาดที่อาจจะเป็นอันตรายได้

วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้ยาที่หมดอายุแล้ว วันหมดอายุของยาจึงบอกช่วงเวลาที่ควรใช้หรือจ่ายยา บางครั้งผู้ผลิตอาจจะใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทนข้อความภาษาไทย

ผลข้างเคียงของยา ข้อห้ามใช้และคำเตือน

เป็นข้อความที่ผู้ใช้ยาควรให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ยานี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไต ไม่ควรใช้ยาใด หากผู้ใช้ยาไม่เข้าใจข้อความในเอกสารกำกับยา สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรได้

เลขทะเบียนตำรับยาบนบรรจุภัณฑ์มักจะมีคำว่า Reg. No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา สิ่งนี้แสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ยานั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีผลในการรักษาจริง

ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้ทราบว่ายาดังกล่าวมีข้อควรระวังในการใช้ยามากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร โดยมากจะแสดงข้อความด้วยอักษรสีแดงบนบรรจุภัณฑ์

ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต

เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญโดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของบริษัทนั้นๆ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อร้องเรียนได้ถูกต้อง โดยระบุเลขที่หรือครั้งที่ผลิตของยานั้นเพื่อให้หน่วยงานรับเรื่องทำการตรวจสอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว

ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย ฉลากยาจากสถานพยาบาลจะแสดงชื่อและนามสกุลของผู้ป่วยกำกับทุกครั้ง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยถูกรายแล้ว ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งเพื่อเตือนใจผู้ป่วย คือ ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นหรือรับประทานยาของผู้อื่น

เนื่องจากแต่ละคนอาจมีโรคที่แตกต่างกัน หรือยามีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย ความรุนแรงของโรคต่างกัน รวมถึงขนาดยาที่ใช้แตกต่างกัน นอกจากจะไม่ช่วยในการรักษา อาจส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้

การอ่านฉลากยานับเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยรักษาประโยชน์และให้ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งที่เราศึกษาหาความรู้ด้านยาด้วย

เป็นหวัดเจ็บคอ กินยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้อักเสบ มาหาคำตอบกัน

Posted on Category:ยา
เจ็บคอ

เป็นไข้หวัด ต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้อักเสบ ใช้ยาอย่างไหนกันแน่ เป็นคำถามยอดฮิต ก่อนอื่นขอให้ทำความเข้าใจกับ อักเสบ มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า Inflammation ซี่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดงและรู้สึกร้อน ณ บริเวณที่มีการอักเสบเกิดขึ้น ภาวะอักเสบที่รู้จักกันดี ได้แก่ ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบกล้ามเนื้ออักเสบ รวมทั้งอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในการทำงานหรือเล่นกีฬา การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ต้องใช้ยากลุ่มที่เรียกว่า“ยาแก้อักเสบ”หรือ “ANTI-INFLAMMATORY DRUG” หรือ“NSAIDs” (เอ็น-เซด ย่อมาจากคำว่า Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) โดยยาแก้อักเสบนี้ ยังนิยมใช้ลดอาการปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ปวดหัว ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมทั้งยังอาจใช้ลดไข้อีกด้วย ทำให้มียาประเภทนี้จำหน่ายและใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งที่เป็นยากิน ยาฉีด ยาใช้ภายนอกทั้งในรูปเจลหรือสเปรย์ โดยยาแต่ละตัวจะมีข้อบ่งใช้และวิธีการใช้ยาแตกต่างกันไป

เจ็บคอ

สิ่งที่ควรคำนึงเสมอในการใช้ยากลุ่มนี้ คือ

  1. “ยาแก้อักเสบ” มักระคายเคืองทางเดินอาหาร ควรรับประทานยาหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ
  2. “ยาแก้อักเสบ” มักใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น เมื่อหายจากอาการอักเสบและอาการปวดให้หยุดยาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่เป็นยากิน เนื่องจากการใช้ยานานๆ นอกจากระคายเคืองทางเดินอาหารแล้ว อาจทำให้การหยุดไหลของเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง บวมน้ำและเกิดภาวะไตวายได้(ระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นกับข้อบ่งใช้และสภาวะโรคที่เป็น จากคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร)

แล้วอาการไข้หวัด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Common cold ถ้าศัพท์วิชาการเรียกว่า Acute nasopharyngitis 90% เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาคือจะรักษาตามอาการ

  • มีไข้ปวดหัว ให้ยาลดไข้แก้ปวด ก็คือพารา
  • มีเสมหะ จะให้ยาช่วยขับเสมหะ เพราะถ้ายังเสมหะตกข้างมาก มันจะทำให้ไอเรื่อยๆ
  • มีน้ำมูกหรือคัดจมูกก็จะให้ยาลดน้ำมูก ซึ่งก็คือกลุ่มยาแก้แพ้ มีทั้งแบบง่วงและไม่ง่วง โดยที่แบบไม่ง่วงจะมีราคาแพงกว่า
  • อาการเจ็บคอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อาจจะผสมน้ำผึ้งหรือน้ำมะนาวเพื่อให้ชุ่มคอ
  • สำคัญที่สุดคือพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าหักโหมงาน ได้ยาครบแต่ไม่พักผ่อนก็ไม่หายครับ
  • ในรายที่ไข้สูงมากๆ คุณหมอบางท่านอาจจะพิจารณาใช้ยา NSAIDsเพื่อลดไข้ให้ แต่ไม่ได้ให้ทุกคน เนื่องจากผลข้างเคียงและอัตราการแพ้ยา

จะเห็นว่ายาฆ่าเชื้อไม่ใช่เป็นยาหลักๆในการรักษาไข้หวัดเลย (เวลาที่เราพูดถึงยาฆ่าเชื้อเราจะหมายถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียซะส่วนใหญ่ครับ) เพราะ 90% เกิดจากเชื้อไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ฆ่าไวรัสไม่ได้ กินไปเสียฟรี ดีไม่ดีแพ้ยาอีก เพราะฉะนั้นใครที่ยังมีความคิดว่า “เป็นหวัดต้องได้ยาฆ่าเชื้อ” คิดใหม่นะครับ

แล้วมันมีไหมที่เป็นหวัดแล้วต้องกินยาฆ่าเชื้อ

มีแต่เป็นส่วนน้อย คือ

  1. กรณีคออักเสบมากแดงมาก หรือทอนซิลอักเสบมากจนเป็นหนอง
  2. คุณหมอตรวจดูแนวโน้มว่าน่าจะเกิดแบคทีเรียติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมา และให้ยาฆ่าเชื้อรักษาไปเลย แต่ยังไงก็ตาม แบคทีเรีย ยังคงเป็นส่วนน้อยอยู่ดีที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด

ทำให้หลายคนเข้าใจผิดและไปที่ร้านยาเพื่อขอซื้อยาแก้อักเสบมาใช้สำหรับอาการเจ็บคอซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ โดยที่ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว โรคติดเชื้อต้องรักษาด้วย “ยาฆ่าเชื้อ” หรือ “ANTI-BIOTIC” ซึ่งมีผลช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อนั้น ทำให้นอกจากยาจะไม่ช่วยให้อาการเจ็บคอหายเร็วขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาแก้อักเสบอีกด้วย ดังนั้น ก่อนซื้อยามาใช้ทุกครั้ง ควรแจ้งถึงสาเหตุที่ต้องใช้ยากับเภสัชกรให้ชัดเจนก่อนเสมอหรือไปพบแพทย์จะดีกว่า